โอโซน: ประโยชน์ที่แฝงอันตรายต่อทางเดินหายใจของสัตว์เลี้ยงและมนุษย์
- Monthinee Jongjesdakul
- 5 days ago
- 1 min read

เคสตัวอย่าง: แมวสามตัวกับภาวะน้ำท่วมปอดจากโอโซน
Noncardiogenic pulmonary edema associated with ozone exposure in three kittens
ลูกแมว 3 ตัว อายุ 21 สัปดาห์ เพศเมีย ถูกพามาที่ห้องฉุกเฉิน เนื่องจากมีการการหายใจลำบากอย่างฉับพลัน เนื่องจากถูกให้อยู่ในห้องที่มีเครื่องผลิตโอโซนที่กำลังทำงานอยู่เป็นเวลา10 ชั่วโมง
อาการที่พบคือ แมวทั้ง 3 ตัว มีอาการหายใจลำบาก หายใจเร็ว จากการฟังปอดพบว่ามีน้ำท่วมปอด และจากภาพ X-ray พบว่า Marked peribronchial, unstructured interstitial pulmonary pattern (ภาพ1) ซึ่งสอดคล้องกับ ภาวะ Noncardiogenic pulmonary edema

คุณหมอได้ทำการรักษาโดยการฉีดยาขับน้ำ (Furosemide 2 mg/kg,IV) และยาขยายหลอดลม (Terbutaline sulfate 0.01 mg/kg,IM) และให้แมวอยู่ในตู้ออกซิเจนที่มีความเข้มข้น 80% 24 ชม.ต่อมาเสียงปอด และอัตราการหายใจกลับมาเป็นปกติ 48-72 ชม. ต่อมาพบว่าอาการระบบทางเดินหายใจ และผล X-ray ช่องอกกลับมาเป็นปกติ (ภาพที่2)

โอโซนคืออะไร และมีบทบาทอย่างไรในสิ่งแวดล้อม
“โอโซน” เป็นก๊าซที่เกิดได้เองตามธรรมชาติ สามารถพบได้ในชั้นบรรยากาศชั้นบนเพื่อช่วยกรองรังสี Ultraviolet (UV) แต่ในบรรยากาศชั้นล่างนั้นเป็นมลพิษ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอันตรายที่ทางเดินหายใจของมนุษย์และสัตว์ แม้ในความเข้มข้นต่ำเพียง 0.12 มก./ลบ.ม. (0.06 ppm) แม้จะเกิดตามธรรมชาติแต่มนุษย์เราก็สามารถผลิตโอโซนขึ้นมาได้เอง โดยใช้อากาศ และไฟฟ้า ยิ่งถ้าใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูงก็จะยิ่งได้โอโซนที่มีความเข้มข้นมาก
โอโซนสามารถทำประโยชน์ให้กับเราได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะใช้ในการบำบัดน้ำเสีย ช่วยกำจัดก๊าซพิษ มลพิษต่างๆ ทำให้อากาศบริสุทธิ์ ฆ่าเชื้อโรคได้ดี และรวดเร็ว
อันตรายจากโอโซนต่อระบบหายใจ
แม้ประโยชน์จะมีมากแต่... “โอโซน” ก็จัดเป็นก๊าซพิษ จึงไม่ควรใช้มากเกินไป เพราะจะกลายเป็นก๊าซพิษได้ เป็นสารที่สามารถก่อให้เกิดการทำลายเยื่อบุถุงลมปอด (Pulmonary aveloar) และ เยื่อบุหลอดเลือดฝอยในปอด (Endothelial membranes) ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้เกิดการอักเสบของปอด เกิดความเสียหายของเซลล์จากสารอักเสบ และ ทำให้หลอดลมหดเกร็งได้ง่าย คล้ายกับโรคหอบหืด
“โอโซน” ในรูปแบบของเหลวที่มีความเข้มข้นสูง ถ้าเข้าตาหรือโดนผิวหนัง จะก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ บางคนอาจแพ้แล้วมีอาการข้างเคียงได้ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้
โอโซนกับการทดลอง: หลักฐานจากหนูและสุนัข
ในหนู : การอักเสบในปอดเกิดขึ้นได้เพียง 4 ชม. หลังจากได้รับความเข้มข้น 1.8 ppm
ในสุนัข : การได้รับโอโซนเฉพาะที่ เช่น บางส่วนของปอด ที่ความเข้มข้น 1 ppm เพียง 5 นาที สามารถกระตุ้นการอักเสบได้อย่างชัดเจน
มาตรฐานความปลอดภัยของ FDA สำหรับโอโซนในอากาศภายในห้อง กำหนดว่าไม่ควรเกิน 0.098 มก./ลบ.ม. (0.05 ppm)
ข้อแนะนำการใช้งานโอโซนให้ปลอดภัย
ทำความรู้จักโอโซนและการอบโอโซนก่อน: โอโซน (O₃) เป็นโมเลกุลที่ประกอบด้วยออกซิเจน 3 อะตอม มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรคและกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ การอบโอโซนคือการปล่อยโอโซนจากเครื่องผลิตเพื่อทำความสะอาดพื้นที่ โดยโอโซนจะทำปฏิกิริยากับสารต่างๆ แล้วสลายตัวกลับเป็นออกซิเจน (O₂) ที่ปลอดภัยต่อการหายใจ
พื้นที่ที่มีการอบโอโซนไม่ควรมีคนหรือสัตว์เลี้ยงอยู่: เนื่องจากโอโซนสามารถเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจของมนุษย์และสัตว์เลี้ยง ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ขณะเครื่องทำงาน
อย่าลืมปิดพื้นที่ที่มีการอบโอโซน: เพื่อป้องกันการรั่วไหลของโอโซนไปยังพื้นที่อื่น ควรปิดประตูและหน้าต่างให้สนิทก่อนเริ่มการอบโอโซน
ระมัดระวังวัสดุที่อาจถูกโอโซนกัดกร่อน: โอโซนอาจทำปฏิกิริยากับวัสดุบางชนิด เช่น ยางหรือพลาสติกบางประเภท ควรตรวจสอบวัสดุในพื้นที่ก่อนการอบโอโซน
หลังอบโอโซนเสร็จ รอให้โอโซนสลายตัวเสียก่อน: หลังจากการอบโอโซน ควรรอให้โอโซนสลายตัวและระบายอากาศในพื้นที่ก่อนกลับเข้าไป
กำจัดสาเหตุของสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ที่ต้นตอหากเป็นไปได้: การอบโอโซนช่วยกำจัดกลิ่นและเชื้อโรค แต่ควรหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาที่ต้นตอเพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
ปฏิบัติตามคู่มือและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนการใช้งาน: เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการใช้งาน ควรอ่านคู่มือการใช้งานอย่างละเอียดและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหากมีข้อสงสัย
Reference
Caudal V, Whitty J, Snead ECR, Starrak GS. Noncardiogenic pulmonary edema associated with ozone exposure in three kittens. J Am Vet Med Assoc. 2018;253(12):1328–1333.
CKK Equipmed. 7 ข้อควรรู้ก่อนการใช้งานเครื่องผลิตโอโซน [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 17 เม.ย. 2025]. เข้าถึงได้จาก: https://www.ckkequipmed.co.th/content/8924/7-ozone-generator-using-tips
รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Kommentare